วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรื่องโลกร้อนที่เราต้องเปลี่ยนแปลงก่อนภูมิอากาศจะเปลี่ยนไป



คงยังอีกหลายปีกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะลงมติว่าสภาพภูมิอากาศของโลกได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง (Climate Change) แต่เรื่องภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นจริง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่านับแต่ที่มนุษย์เริ่มรู้จักเครื่องจักรไอน้ำและนำเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ ถ่านหินและน้ำมันขึ้นมาใช้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล และค้นพบในเวลาต่อมาว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก รวมถึงก๊าซมีเทน ก๊าซซีเอฟซี ก๊าซโอโซน ฯลฯ ที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจกนั้น จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้เมื่อราวศตวรรษก่อนกำลังเป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน

“มีพยานหลักฐานใหม่ๆ ยืนยันได้ว่า ภาวะโลกร้อนขึ้นในรอบ 50 ปี ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์” IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change)

ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนนั้น เป็นที่น่าเชื่อถือได้จากปรากฏการณ์อันเป็นผลกระทบบนพื้นผิวโลก ทั้งการละลายของน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด จากสัญญาณที่ระบุได้ชัดเจนก็คืออุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบทศวรรษนี้ ขณะที่แบบจำลองด้านภูมิอากาศทำนายว่า หากการละลายของน้ำแข็งยังคงอัตราเช่นนี้ แนวโน้มที่จะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมขั้วโลกเหนือในฤดูร้อนอาจจะเกิดขึ้นภายใน 25 ปีข้างหน้า


ธารน้ำแข็งบนยอดเขาหลายแห่งทั่วโลกเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เมื่อถึงฤดูร้อน น้ำแข็งก็ละลายไหลไปรวมเป็นลำธารและแม่น้ำสายต่างๆ หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก และหากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงเหล่านั้นละลายลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือสัญญาณบอกว่า ภายใน 50 ปีข้างหน้า ประชากรทั่วโลกจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ป่าเขตร้อนที่ชุ่มชื้นและเป็นแหล่งที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เช่นที่ผืนป่าชื้นเขตร้อนแห่งควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ดินแดนที่ได้รับการยกย่องในฐานะมรดกโลก ด้วยความหลากหลายของพืชกว่า 700 สายพันธ์ที่ไม่พบในที่อื่นใดนอกจากผืนป่าแห่งนี้ เพิร์นหลายชนิดยังเป็นชนิดเดียวที่ไดโนเสาร์เคยกินเป็นอาหาร และที่นี่เป็นบ้านของกบมากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนชนิดกบที่พบได้ที่ออสเตรลีย


ในป่าที่ร้อนชื้นเช่นนี้ หลายชนิดพันธุ์จะปรับตัวดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับความชุ่มชื้นจากน้ำค้างและเมฆหมอก กบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กบไมโครไฮลิด ปรับตัวด้วยการวางไข่ในดินที่แฉะๆ ชื้นๆ และกบชนิดนี้คือหนึ่งในบรรดาพืชและสัตว์ที่จะสูญพันธุ์ เมื่อผืนดินเริ่มแห้งลง ความชุ่มชื้นเริ่มหายไป จากภาวะโลกร้อน


ด้วยความทรงจำที่บ้านเราประเทศไทย เคยมีกวางที่เขาสวยที่สุดได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากที่ราบลุ่มภาคกลางและจากโลกของเรา ก็ไม่เคยเห็นรายงานทางวิทยาศาสตร์ใดแสดงถึงผลกระทบของการสูญพันธุ์ของเนื้อสมัน

หากว่ากบหรือพืชอีกไม่กี่ชนิดจะสูญพันธุ์ จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษยชาติ?
หากจะเริ่มอรรถาธิบายผลกระทบ เราอาจจะต้องหยิบยืมการเปรียบเทียบการเกิดโลกเมื่อ 4,500 ล้านปีที่แล้ว เป็นปฐมบทของโลกสีฟ้าใบนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าหากเราจะย่นระยะเวลาอายุของโลกให้สั้น และเปรียบเทียบกับ 1 ปี โดย วันที่เกิด Big Bang เป็นเวลา 00.01 น. ของวันที่ 1 มกราคม เดือนสิงหาคม เริ่มเกิดดวงอาทิตย์ โลกและดาวบริวาร และ ณ ปัจจุบันคือ 24.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม หรือสิ้นปีพอดี


เราจะพบว่า กว่าที่โลกจะเริ่มเย็นลงปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์ประกอบของกลุ่มก๊าซจนกระทั่งมีความเหมาะสมต่อการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตก็ต่อเมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน ซึ่งจากหลักฐานที่ค้นพบก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเท่านั้น (Oldest known life_ single celled) ที่สามารถเกิดขึ้นและอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะอากาศ บรรยากาศที่เป็นอยู่ในช่วงนั้น และกว่าที่พืชจะสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นดินก็เข้าสู่วันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านไปนี้เอง และไดโนเสาร์ สิ่งมีชีวิตพันธุ์ยักษ์เพิ่งจะสามารถอุบัติขึ้นบนโลกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม และกว่าที่สิ่งมีชีวิตที่สามารถยืนบนขาหลัง กระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นโลกที่เรียกว่า มนุษย์ ที่มีลักษณะเหมือนปัจจุบันมากที่สุดจะสามารถกำเนิดมาได้ก็เมื่อเวลา 23.54 น. ของคืนวันสุดท้ายของปี หรือ 31 ธันวาคม นี่เอง


จากการเปรียบเทียบอายุขัยของโลกให้สั้นลงเท่ากับหนึ่งปี ทำให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น เราเห็นภาพของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายเผ่าพันธุ์ รูปร่างหน้าตาที่แปลกแตกต่างกันมากขึ้น และจากหลักฐานทางธรณีวิทยาเราก็พบว่า ตั้งแต่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้บนโลกนั้น โลกของเราได้ผ่านยุคน้ำแข็งหลักๆ 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 50,000 – 100,000 ปี โลกในยุดน้ำแข็งจะมีเพียงสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้เท่านั้นจึงสามารถอยู่รอดมาได้ และแต่ละครั้งก็สูญพันธุ์ไปกว่า 90 % สิ่งมีชีวิตที่เหลือก็ดำรงเผาพันธุ์ และวิวัฒนาการแตกสายแตกต่างกันไปอีกเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง การสูญพันธุ์ในแต่ละยุคดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรรมชาติที่โลกปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตรและปัจจัยในช่วงขณะนั้นๆ แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่มนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตที่คล้ายมนุษย์เป็นปัจจัยหลักของภาวะสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้น ยกเว้นสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเร่งปฏิกิริยาของสภาวะโลกร้อนให้เร็วขึ้น และเร็วขึ้นกว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ที่เราสามารถศึกษาย้อนกลับไปวิเคราะห์ได้


หากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และสูงขึ้นทุกๆปี สูงกว่าค่าเฉลี่ย และก่อให้เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก เทือกเขาสูงมีธารน้ำแข็งปกคลุมน้อยลง แผ่นดินที่อยู่บนโครงสร้าง เพอร์มาฟรอสต์ละพังทะลายลงเนื้องจากชั้นหินที่เคยเย็นยะเยือกเริ่มอุ่นขึ้น น้ำแข็งที่แทรกตัวอยู่ในชั้นหินเริ่มละลาย แล้วชั้นหินก็เริ่มไม่มั่นคงอีกต่อไป เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลเริ่มสูงขึ้นกว่าที่ปะการังจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ กล่าวก็คือสาหร่ายที่อยู่และสัมพันธ์กับปะกางรัง พึ่งพาประโยชน์ซึ่งกันและกัน เมื่อน้ำเลเริ่มร้อนกว่าเดิม ปะการังก็จะขับสาหร่ายออกไปจากเซลล์ ปะการังก็จะเริ่มตาย เป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า “ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” ทรัพยากรทางทะเลอันเป็นแหล่งโปรตีนเลี้ยงคนทั้งโลกก็จะเสียสมดุล อาหารทะเลจะน้อยลง หรือเมื่อแผ่นพืดน้ำแข็งที่ทับถมบนซากพืชสัตว์โบราณซึ่งช่วยควบคุมการเกิดมีเทนได้เริ่มละลายหายไป การย่อยสลายจะเริ่มเกิดขึ้นและผลิตมีเทนปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นยากที่คาดเดาได้ แต่ที่แน่ๆ โลกจะร้อนขึ้นไปจนถึงระดับวิกฤติ หรือเข้าสู่จุดที่เรียกว่าจุดพลักผัน (Tipping Point) และเมื่อเราเข้าสู่จุดพลักผัน โลกก็จะเปลี่ยนไปสิ้นเชิงอย่างไม่มีทางย้อนกลับ

Earth Hour จะช่วยอะไรได้?
คำตอบก็คือ Earth Hour เพียงหนึ่งชั่วโมง ช่วยอะไรไม่ได้เลย เรายังคงมีก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในทุกๆ วัน และมากขึ้นทุกๆ ปี

ถ้าเป็นเช่นนั้นและเราควรจะทำอย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ IPCC ต่างเสนอพ้องต้องกันว่า เราต้องจำกัดให้อุณหภูมิโลกไม่ให้สูงไปกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งยังเป็นจุดที่เรายังพอจัดการอะไรๆ ได้บ้าง โลกจะยังไม่เข้าสู่จุดพลิกผัน และเรายังพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจกรรมที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้มากไปกว่านี้ และให้ลดน้อยลงกว่าเดิมถึง 60 % ซึ่งเรามีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในความพยายามนี้ หากทั้งโลกไม่ประสานพลังกัน และทำงานร่วมกัน


ถุงผ้าไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน แต่การใช้ถุงผ้าแทนพลาสติกบรรจุผักผลไม้ได้ทั้งหมดที่เราจับจ่ายใช้สอยในตลาดสดก็พอช่วยได้บ้าง การเปลี่ยนหลอดไฟแบบหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบจะลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มหาศาล ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานถ่านหิน หรือน้ำมัน หรือเขื่อนที่การก่อสร้างน้ำจะท่วมต้นไม้แหล่งเก็บกักคาร์บอนตามธรรมชาติ ก็จะเป็นมิตรกับโลกเรามากขึ้น การทานอาหารที่มี Food Mile น้อยๆ หรือเลือกอาหารที่ปลูกและผลิตในท้องถิ่นก็จะลดปริมาณเชื้อเพลิงจากการขนส่ง เดินและปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งมวลชนมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมทั้งใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดมากกว่าพึ่งพาเพียงเชื้อเพลิงฟอสซิล และถ้าเราทำได้มากไปกว่านี้ อาจเป็นทางรอดเดียวที่เรามีอยู่ ณ ขณะนี้


ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีโอกาสอันดียิ่งที่จะได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพราะหนึ่งในองค์ประกอบของแนวคิดพระราชทาน คือ การรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ มากเกินไปหรือไม่ และคำว่า “มาก” นี้อาจตีความกับสถานการณ์วิกฤตินี้ได้ว่า ส่งผลกระทบมากเกินไปหรือไม่ มีภูมิคุ้มกันที่ไม่เพียงตัวเรา แต่ภูมิคุ้มกันกับระบบนิเวศ หรือระบบของโลกที่จะต้องอยู่อย่างสมดุล

“ก๊าซเรือนกระจกจะเข้มข้นถึงจุดพลิกผัน หาก “สถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างเคย” เราจึงมีเวลาในการปรับเปลี่ยนไม่มากนัก เราจะต้องปรับตัวสู่สังคม “คาร์บอนต่ำ” เพื่อช่วยกันรักษาโลกที่เป็นดุจของขวัญล้ำค่า ด้วยเพราะโลกอาจเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเดียวในจักรวาลที่เป็นเช่นนี้ และเราจะต้องส่งมอบมรดกนี้สู่คนรุ่นต่อๆไป”

อ้างอิง;
· กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี,2551, 50 เรื่องต้องรู้อยู่กับโลกร้อน, สำนักพิมพ์สารคดี
· มาร์ก ไลนัส, ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ – พลอยแสง เอกญาติ แปล, 2551, 6 องศาโลกาวินาศ, สำนักพิมพ์มติชน
· ภาพบิ๊กแบง; http://www.rmutphysics.com/charud/oldnews/221/bigbang.jpg
· ภาพปฏิทินเอกภพ; http://www.bruceeisner.com/photos/uncategorized/cosmiccalendar.gif